คำพ่อสอน

ทุกข์และการเอาชนะความทุกข์คือหัวใจของพระพุทธศาสนา

พุทธศาสนาศึกษาอะไร ก็ศึกษาความทุกข์นี่เอง ความทุกข์เป็นสิ่งที่คนไม่ชอบ จึงต้องการให้พ้นทุกข์ พ้นทุกข์สำหรับตัวเองแต่ละคนๆ
แต่ว่าการให้พ้นทุกข์นี้ยากมาก เพราะว่ามีความรู้สึกว่า ไม่เป็นทุกข์ มีความรู้สึกว่าเป็นสุข อยากได้ความสุข แล้วก็ใครมาทำให้เราเป็นทุกข์หรือแม้แต่มีความสุขน้อยลงไป ก็ทำให้เราโกรธ ทำให้เราไม่พอใจ แล้วก็เดือดร้อน ฟุ้งซ่าน ไม่มีความสุข แล้วก็มีความทุกข์ ฉะนั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาก็คือการศึกษาว่า ทุกข์นี้มาจากไหน ทำไมเราไม่ชอบความทุกข์ เราเป็นทุกข์ในทุกข์ เราก็จะต้องดูทุกข์นี้เป็นอะไร ให้เข้าใจว่าคืออะไร
แล้วเราก็จะต้องเห็นว่าทุกข์นี้มีเหตุผล มีต้นเหตุ เมื่อมีต้นเหตุแล้ว เราก็จะต้องดูว่า เราระงับทุกข์ได้ตรงไหน บอกว่ามีทุกข์ ต้องบรรเทาทุกข์ ความจริงทุกข์นั้นบรรเทาไม่ได้ ต้องปล่อยให้ไปตามเรื่องของมัน ก็เสร็จ แล้วมันก็หายไป เพราะว่ามีทุกข์ มันก็ไม่มี มันก็หมดไปได้ สุขมี สุขก็หมดไปได้ ฉะนั้น การที่พระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้าให้เราศึกษา ก็คือศึกษาให้เห็นว่า ทุกข์มันมาจากไหน ให้รู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร เป็นอะไร แล้วก็ทุกข์มาจากไหน จะเห็นว่ามีทุกข์ ก็ต้องมีการไม่ทุกข์ เมื่อมีการไม่ทุกข์ ก็มีการหมดทุกข์ได้ มีการหมดทุกข์ได้แล้ว ก็เห็นได้ว่ามีทางที่จะหมดทุกข์ อันนี้ท่านก็เรียกว่า อริยสัจ
ฉะนั้น การศึกษาพุทธศาสนา ก็คือการศึกษาอริยสัจนั้นเอง แต่ก่อนที่จะศึกษาถึงอริยสัจหรือได้ทราบถึงอริยสัจ ก็ย่อมต้องดูกลไกของการศึกษาพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้าใจว่าจะต้องเริ่มจากที่ได้กล่าวเมื่อตะกี้นี้ คือจุดเริ่มต้น คือดูใจด้วยเครื่องมือที่มี คือสมาธิ ในการนี้ ในตอนต้นนั้นก็ต้องมีความพอใจในการที่จะปฏิบัติ คือชอบใจ มีฉันทะ แล้วก็มีความเพียรในการทำ มีความจดจ่อในการทำ มีความสำรวจในการทำ ถ้าหากว่าตั้งแต่ต้นสามารถที่จะทำอย่างนั้น ก็จะเคลื่อนขึ้นไป จะดำเนินไปถึงจุดสุดยอดได้สูงสุด คือได้ศึกษาอริยสัจ และเข้าใจในอริยสัจ พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระราชทานแก่คณะผู้แทนพุทธสมาคมทั่วประเทศ ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๓ จากหนังสือธรรมะจากพระโอษฐ์ 

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar