หยาดฝนหรั่งริน สู่ดินของพระราชา

ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในป่ามีต้นไม้ใหญ่น้อยแน่นขนัด มีความหลากหลายของพืชพันธุ์ เป็นแหล่งนิเวศน์ที่สำคัญและเป็นที่พึ่งพิงของคน รวมถึงสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ยิ่งประเทศเรานั้นเป็นประเทศประกอบเกษตรกรรมเป็นหลัก พื้นที่ป่าจึงเป็นตัวแปรสำคัญของสภาพภูมิอากาศและความผันแปรของฤดูกาล ในปัจจุบันพื้นที่ป่ามีการบุกรุกมากขึ้น มนุษย์ได้ขยายพื้นที่ทำกินรุกรานพื้นที่ป่ามากขึ้น แน่นอนสมการความสมดุลของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศย่อมผันผวนไป ปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าพื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ ทำให้เกิดฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำในเขื่อนมีความผันผวนทำให้ยากในการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภค

ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมประชาชนและทอดพระเนตรเห็นความแห้งแล้งเกิดขึ้นทั่วไป หลายแห่งประสบปัญหาพื้นดินแห้งแล้ง หรือการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การทำการเกษตรเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรมักจะประสบความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในระยะวิกฤติของพืชผล กล่าวคือหากขาดน้ำในระยะนี้จะทำให้ผลผลิตต่ำหรืออาจทำให้ผลผลิตที่มีอยู่เสียหายได้ สร้างความเดือดร้อนอย่างสาหัสและก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรอย่างมหาศาล นอกจากนี้ภาวะความต้องการใช้น้ำของประเทศนับวันจะทวีปริมาณความต้องการสูงขึ้นเพราะการขยายตัวเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนจากแหล่งทรัพยากรน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกล และทรงความอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านที่ประกอบด้วยคุณลักษณะของนักวิทยาศาสตร์ ทรงสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลในขั้นต้นแล้ว จึงได้มีพระราชดำริครั้งแรก ในปี 2498 แก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่าจะทรงค้นหาวิธีการที่จะดึงเมฆให้กลายเป็นฝนตกลงมาข้างล่าง โดยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์กับทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีศักยภาพของการเป็นฝนให้ได้เพื่อคืนความชุ่มชื่นให้กลับมาสู่พื้นดินอีกครั้งและในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 นับเป็นวันปฐมฤกษ์ปฏิบัติการทดลองทำฝนเทียมกับเมฆในท้องฟ้าเหนือภาคพื้นดิน ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการปฏิบัติการครั้งนี้ได้เปลี่ยนสีของฐานเมฆจากขาวเป็นเทาเข้ม แม้จะไม่ทำให้เกิดฝนตกในบริเวณที่ทดลอง แต่นับว่าผลการทดลองที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการปฏิบัติการฝนหลวงในครั้งนี้ทำให้เกิดการพัฒนา ทดลอง ปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อ ๆ ไปจนประสบผลสำเร็จอย่างเช่นปัจจุบัน

เรียบเรียงโดย ดนัย ไพรวัลย์


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar