พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

เป็นพระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญแก่เกษตรกรไทย กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย แต่ไม่ได้กำหนดวันที่แน่นอนไว้เหมือนกับวันในพระราชพิธีอื่น ๆ ส่วนจะเป็นวันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ให้จัดขึ้นในวันนั้น 

     โดยพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ มีพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (พิธีไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ ซึ่งจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีสนามหลวง
             
     นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเรื่อยมางานแรกนาขวัญมีแต่เพียงพิธีทางศาสนาพราหมณ์เท่านั้น จนกระทั่ง ถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่าง ๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงได้เริ่มมีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงมีชื่อเรียกรวมกันว่า “พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

     ในปี พ.ศ. 2566 นี้ ได้กำหนด ให้วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันประกอบพระราชพิธีพืชมงคล ซึ่งเป็นพิธีทำขวัญ พืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง 
              
     สำหรับในวันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เป็นวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีสนามหลวง ในแต่ละปีได้มีการกำหนดว่า ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา คือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา และผู้ที่มาทำหน้าที่ เทพี คู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวดวงพร  งามประดิษฐ์ นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ กรมวิชาการเกษตร และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ เทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวปนัดดา  เปี่ยมมอญ  นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ  สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวภัทรปภา มินรินทร์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร 
             
     สำหรับพระโคที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีฯ ประจำปีพุทธศักราช 2566 เป็นโคพันธุ์ขาวลำพูน  มีสีผิวขาวอมชมพู  ขนสีขาวสะอาด  ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ  หรือสีอื่นบนลำตัว  เขามีสีขาว  ลำตัวเป็นลำเทียน  เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม  ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน  ขนตาสีชมพู  บริเวณจมูกขาว  กีบสีขาว  ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว  ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง  เวลายืนและเดินสง่า
              
     พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 225 เซนติเมตร  ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 11 ปี นายสมชาย ดำทะมิส  บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

     พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 238 เซนติเมตร  ความสมบูรณ์  รอบอก 209 เซนติเมตร อายุ 11  ปี นายอาคม  วัฒนากูล  บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  
              
     ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคล เป็น “วันเกษตรกร” ประจำปีด้วย  เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรร่วมกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพทางเกษตรกรรม ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชาติ นอกจากนี้ ในงานพระราชพิธีฯยังมีการมอบรางวัลและยกย่องประกาศเกียรติคุณให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกรและสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประเภทต่าง ๆ รวมทั้งปราชญ์เกษตรของแผ่นดินที่ผ่านการคัดเลือก พร้อมทั้งเผยแพร่ผลงานให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จักและยึดถือเป็นแบบอย่างในแนวทางการปฏิบัติอีกด้วย

 


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar